ในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้านั้น ก่อให้เกิดความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาใช้สำหรับการอัดประจุแก่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากมีการนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้งานอย่างแพร่หลาย จะทำให้เกิดการอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้าในจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ ดังนี้
- ผลกระทบต่อข้อมูลการใช้ไฟฟ้า (Impact on Load Profile) เกิดจากการที่ผู้ใช้
ยานยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ทำการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าภายในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ในช่วงเช้าของการมาถึงที่ทำงาน ในช่วงเย็นเมื่อกลับถึงบ้าน เป็นต้น - ผลกระทบต่ออุปกรณ์ในระบบ (Impact on System Components) เกิดจากการที่อุปกรณ์ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่อาจจะไม่ได้ออกแบบมาให้เพียงพอสำหรับการรองรับต่อความต้องการพลังงานจากยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มเข้ามา จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าเกินพิกัดกำลัง (Overload) ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ หรือในกรณีที่ทำการอัดประจุให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยกำลังไฟฟ้าสูง ๆ หรือที่เรียกกันว่าการอัดประจุแบบเร็วก็อาจส่งผลให้อายุการใช้งานที่เหลืออยู่ของอุปกรณ์ในระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นสั้นลง
- ผลกระทบจากการสูญเสียในระบบ (Impact on System Losses) เกิดจากการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก จากโรงไฟฟ้ามายังสถานีอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้า จึงทำให้เกิดการสูญเสียไฟฟ้าในระบบเพิ่มขึ้น
- ผลกระทบจากความไม่สมดุลของเฟสและแรงดัน (Phase and Voltage Unbalance) เกิดจากการอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้าจํานวนมาก ซึ่งทําให้เกิดแรงดันไฟฟ้าภายในเครือข่ายสูง หรือก่อให้เกิดความไม่สมดุลของเฟส ซึ่งมีผลมาจากการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าด้วยไฟฟ้ากระแสสลับแบบเฟสเดียว
- ผลกระทบจากฮาร์มอนิก (Harmonic Impact) เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลัง สำหรับใช้ในการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า การสับสวิตซ์ส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จึงอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพพลังงานของระบบโครงข่ายไฟฟ้า โดยปัญหาหลักที่เกิดขึ้นนั้นคือหากเกิดการบิดเบือนฮาร์มอนิกสูงอาจนำไปสู่ความเสียหายของอุปกรณ์ในระบบได้
- ผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบ (Stability Impact) การอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้านั้น จะส่งผลให้เกิดความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้ความมีเสถียรภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นลดต่ำลงซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้ อาทิ การควบคุมการอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้า การนําระบบอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้เข้ามาใช้ การบริหารจัดการความต้องการพลังงานที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างเหมาะสม การจัดหาพลังงานจากแหล่งจำหน่ายพลังงานที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีความต้องการพลังงานหรือสถานีอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น