สนพ. เดินหน้าขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าไทย เร่งทำแผนพัฒนาสถานีอัดประจุ รับความต้องการอนาคต

/, ข่าวสาร, กิจกรรม, ข่าวสารและกิจกรรม/สนพ. เดินหน้าขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าไทย เร่งทำแผนพัฒนาสถานีอัดประจุ รับความต้องการอนาคต

สนพ. เดินหน้าขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าไทย เร่งทำแผนพัฒนาสถานีอัดประจุ รับความต้องการอนาคต

By | 2021-11-11T14:02:39+07:00 พฤศจิกายน 9th, 2021|ปี 2564, ข่าวสาร, กิจกรรม, ข่าวสารและกิจกรรม|

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งเป็นการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  โดยเป็นไปตามที่ทั่วโลกเห็นถึงความสำคัญต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีและมาตรการต่าง ๆ รองรับเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality)

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 (COP21) ได้รับรองข้อตกลงปารีสภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งมีเป้าหมายหลักร่วมกันที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ทิศทางพลังงานโลกยังมุ่งไปสู่การผลิตและการใช้พลังงานที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions หรือ Carbon Neutrality) ในระยะยาว

ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามสัตยาบันข้อตกลงปารีสเช่นกัน และนำมาสู่การวางกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว โดยแผนพลังงานชาติ ได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดยแนวนโยบายหนึ่งของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) คือ การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นไฟฟ้านี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง และช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 อีกด้วย อีกทั้งยังกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะ Fast Charge หรือ ชาร์จเร็ว จะมีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง

และเพื่อให้การดำเนินงานพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 และคณะกรรมการฯ ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่าง ๆ จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย

  1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
  2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
  3. คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
  4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นอนุกรรมการในทุกคณะและทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจก จากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือและขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ของประเทศไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติอยู่ระหว่างการจัดทำ Roadmap ของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยจะมีการพิจารณากำหนดเป้าหมายและทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่ชัดเจน ทั้งด้านการผลิตและการใช้รถยนต์ ZEV ในประเทศ โดยแบ่งมาตรการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้านดังนี้

มาตรการที่ 1 : ด้านการผลิต

มาตรการที่ 2 : ด้านการใช้

มาตรการที่ 3 : ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

มาตรการที่ 4 : ด้านแบตเตอรี่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในระยะสั้น กระทรวงพลังงานจะอยู่ระหว่างการจัดทำ EV Charging Station Mapping เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ตอบโจทย์การส่งเสริมการติดตั้งสถานีให้เพียงพอสำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า แต่ในระยะกลางและระยะยาวนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางและแผนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการส่งเสริมที่คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนด และมีการพิจารณาข้อมูลและความเหมาะสมในมิติต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาผลกระทบต่อการลงทุนระบบไฟฟ้าร่วมด้วย

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือดำเนิน โครงการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและมีความสอดคล้องกับทิศทางภาพรวมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และไม่เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งจะสามารถทำแผนแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565