หลังจากมีการเสนอหลักการเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่มาเป็นนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ที่สะท้อนต้นทุนของผลิตและจำหน่ายมากกว่าใน ปี 2534 แล้ว ในที่สุดนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ก็ได้รับความเห็นจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 6/2539 (ครั้งที่ 60) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2539 โดยในวาระเพื่อพิจารณาที่ 4.4 แนวทางในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้นำเสนอแนวทางในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก อันเป็นผลมาจากการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและการศึกษาลักษณะความต้องการไฟฟ้า (load curve) ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมี สาระสำคัญของข้อเสนอในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย
- นำอัตราค่าไฟฟ้าประเภท TOU มาใช้งาน
- กำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาการใช้ (time of use: TOU) ให้เป็นอัตราทางเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท TOD ในปัจจุบัน โดยเพิ่มประเภทอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในระดับแรงดัน 115 เควี ขึ้นไปซึ่งจะเป็นอัตราที่ลดต่ำกว่าค่าไฟฟ้าระดับ 69 เควี เดิม
- กำหนดให้ วันจันทร์ ถึง วันเสาร์ ในช่วงเวลา 9:00-22:00 น. เป็นช่วงเวลาใช้ไฟฟ้าสูง (peak) และ นอกจากช่วงเวลาดังกล่าวและวันอาทิตย์ทั้งวัน เป็นช่วงเวลาใช้ไฟฟ้าต่ำ (off-peak)
- กำหนดให้ค่าพลังงานไฟฟ้า (energy charge) เปลี่ยนแปลงตามระดับแรงดันและตามช่วงเวลา
- ให้งดเก็บค่าความต้องการใช้พลังไฟฟ้า (demand charge) ในช่วงเวลา off-peak และค่าพลังไฟฟ้าในช่วง peak ลดลงจากระดับเดิมหรือเท่ากับ 0
- ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะอย่าง ให้ใช้อัตรา TOU แทน อัตรา TOD เดิม
- เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เห็นควรให้แยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่า Ft ทั้งนี้อ้างอิงมติ กพช. เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ที่ให้นำค่าใช้จ่ายบางส่วนออกจากค่า Ft ได้แก่ ค่าใช้จ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดิน และค่าใช้จ่าย demand side management
- กำหนดให้รอบการเปลี่ยนแปลงค่า Ft เป็นการเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน โดยให้ประมาณการค่าเชื้อเพลิงที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าประกอบกับการปรับลดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้นำเสนอแนวทางในการปรับและโครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง 3 การไฟฟ้า ดังนี้
- เพื่อให้โครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก จึงเห็นควรให้ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้ามีลักษณะแตกต่างตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) แทนอัตราคงที่ต่อหน่วยเดิม ทั้งนี้ยังคงรักษาระดับราคาขายส่งเฉลี่ยในอัตราเดิม
- แนวทางกำหนด TOU ของราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้า (bulk supply tariff) มีดังนี้
- แยกราคาขายส่งตามระดับแรงดัน (เควี) : 230, 115, 69, 33 และ 22
- แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาของ TOU ขายส่ง เช่นเดียวกันกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก
- กำหนดให้ค่าพลังงานไฟฟ้าสูงในช่วง peak และต่ำในช่วง off-peak
- ชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า (revenue transfer) ผ่านราคาค่าไฟฟ้าขายส่ง
ผลจากการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในระดับแรงดันสูงมีอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยลดลงและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบเพราะการประกาศใช้อัตรา TOU เป็นอัตราทางเลือก และการปรับโครงสร้างฯ ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า เนื่องจากการชดเชยรายได้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ดังนี้
- อนุโลมให้อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ (TOU) เป็นอัตราทางเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้อัตรา TOD ที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน
- ให้แยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าไฟฟ้าให้ชัดเจน
- ให้ปรับปรุงสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยลง
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง 3 การไฟฟ้า ดังนี้
- ให้โครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้า แตกต่างกันตามระดับแรงดัน
- ให้มีอัตราแตกต่างกันตามช่วงเวลาของวันเป็น 2 ช่วง คือ Peak และ Off-peak
- กำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าพลังงานไฟฟ้าสูงในช่วง Peak และค่าพลังงานไฟฟ้าต่ำในช่วง Off-peak
ไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีการกำหนดราคาอย่างเป็นระบบภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานภาครัฐ โดยทั่วไปการคิดอัตราค่าไฟฟ้าจะมุ่งเน้นให้มีการสะท้อนต้นทุน (cost reflective rate) เป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่หน่วยงานภาครัฐและผู้กำกับดูแลกิจการสาธารณูปโภคทั่วโลกให้การยอมรับ เพื่อส่งสัญญาณทางด้านราคา (price signal) ที่เหมาะสมต่อผู้บริโภคให้มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่อยู่อย่างจำกัดอย่างเหมาะสม ผู้ใช้บริการหรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้มาก ก็จะต้องถูกคิดค่าบริการมาก ผู้ใช้บริการหรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้น้อย ก็จะถูกคิดค่าบริการที่น้อย หรือผู้ที่ก่อภาระให้มีการลงทุนใหม่ในการจัดหาทรัพยากรเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการลงทุนนั้น หรือเรียกว่าหลักการ Casuality Principle ทั้งนี้อัตราค่าบริการที่สูงหรือต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ให้บริการหรือผู้ได้รับบริการในระยะสั้นหรือระยะยาวได้
ต้นทุนของการให้บริการไฟฟ้าจะแปรผันไปตามระยะเวลาของการใช้ไฟฟ้า ในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก ย่อมส่งผลให้ผู้จัดหาไฟฟ้ามีภาระที่ต้องจัดหาไฟฟ้ามารองรับให้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงด้วย ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องกำหนดราคาที่สะท้อนต้นทุนของการให้บริการ นอกจากนี้ ต้นทุนของการให้บริการยังแปรผันตามประเภทของโครงข่ายที่เชื่อมโยง (level of voltage) ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเชื่อมโยงกับโครงข่ายที่มีแรงดันไฟฟ้าสูง ย่อมได้รับกระแสไฟฟ้าที่มีอัตราการสูญเสีย (loss) ของระบบสายจำหน่ายไฟฟ้าที่น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้านที่อยู่อาศัยทั่วไปที่กว่าจะได้รับกระแสไฟฟ้า ณ จุดปลาย ได้มีหน่วยไฟฟ้าสูญเสียเกิดขึ้นในแต่ละส่วนของระบบอย่างมาก ดังนั้น อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละแรงดันไฟฟ้าของโครงข่ายที่เชื่อมโยงจึงจำเป็นต้องมีความแตกต่างกันตามต้นทุนของการให้บริการในแต่ละระดับแรงดัน
อุปสรรคที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ไปเป็นอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้คือการจดหน่วยไฟฟ้า (meter reading) ในอดีตที่ผ่านมา การจดหน่วยไฟฟ้าส่วนใหญ่มักจะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากการไฟฟ้า เฉลี่ยเดือนละครั้ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นภาระทางด้านบุคลากรและค่าใช้จ่ายดำเนินการของการไฟฟ้าเป็นอันมาก ประกอบกับราคาเครื่องวัดฯ หรือมิเตอร์ที่ใช้เก็บข้อมูลการใช้ในแต่ละช่วงเวลา มีราคาต้นทุนต่อหน่วยสูงมาก ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้ให้ความสนใจด้วยเหตุผลทางการเงินเป็นสำคัญ เช่นเดียวกันกับการไฟฟ้า การจัดซื้อมิเตอร์แบบ TOU จำนวนมาก เป็นการลงทุนที่ขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงมาใช้มิเตอร์เหล่านี้มีค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดภาระแบกรับทรัพย์สินเสื่อมสภาพได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ต้นทุนของค่ามิเตอร์ได้ลดลงเป็นอย่างมาก จากหมื่นกว่าบาทต่อเครื่อง เป็นหลายพันบาทต่อเครื่องเท่านั้น ประกอบกับแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีของโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart grid) ที่ช่วยให้มีการสื่อสารกันระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ให้บริการไฟฟ้าเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนในการดำเนินการที่ลดต่ำลงด้วย ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นทิศทางของการเปลี่ยนแปลงจากอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ไปสู่อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU มีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ประโยชน์ของอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ที่มีมากกว่าอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ ได้แก่
1. ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ทั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจะสามารถค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน และระบบไฟฟ้าในภาพรวม (ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า) ที่จะลดเงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าหรือการเดินโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง (peaking power plant) ลงได้
2. สะท้อนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ได้ดีขึ้น จากข้อเท็จจริงที่ว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาสูงสุด (peak) ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่สูง ก็ควรจะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้น ขณะที่ในอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้รับรู้ถึงต้นทุนในการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาสูงสุดแต่อย่างใด เพราะในแต่ละช่วงเวลา มีอัตราค่าไฟฟ้าเท่ากันหมด
3. ช่วยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์ไปใช้ในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงเวลาสูงสุด จะช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้เป็นอันมาก จึงทำให้ความคุ้มค่าของการลงทุนติดตั้งแผงโซล่าร์เป็นไปได้ในทางปฏิบัติได้มากขึ้น
อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ (TOU rate) ในปัจจุบันเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบ่งตามประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา ดังนี้
1. นิยามของช่วงระยะเวลาการใช้
ช่วงเวลา Peak ตั้งแต่เวลา 9:00 – 22:00 น. ของ วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ และช่วงเวลา Off-peak ตั้งแต่เวลา 22:00 – 9:00 น. ของ วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ และ ตลอดวัน ของวันเสาร์และวันอาทิตย์ วันแรงงานและวันหยุดราชการปกติ (ยกเว้นวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย)
2. Incentive Based Demand Response
อัตราตามช่วงเวลาการใช้ | ค่าพลังงาน (บาท/kWh) | ค่าบริการ (บาท/เดือน) | |
ณ แต่ละระดับการเชื่อมโยง | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | |
1. แรงดัน 22-23 KV | 5.1135 | 2.6037 | 312.24 |
2. แรงดันต่ำกว่า 22 KV | 5.7982 | 2.6369 | 38.22 |
อัตราตามช่วงเวลาการใช้ | ค่าพลังงาน (บาท/kWh) | ค่าบริการ (บาท/เดือน) | |
ณ แต่ละระดับการเชื่อมโยง | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | |
1. แรงดัน 22-23 KV | 5.1135 | 2.6037 | 312.24 |
2. แรงดันต่ำกว่า 22 KV | 5.7982 | 2.6369 | 46.16 |
- หมายเหตุ
1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กนี้ หากในรอบเดือนใดมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุด ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป จะจัดเข้าอยู่ในประเภทที่ 3 อัตราประเภท TOU (ข้อ 3.2) ประเภทที่ 4 อัตราประเภท TOU (ข้อ 4.2) หรือ ประเภทที่ 5 อัตราประเภท TOU (ข้อ 5.2) แล้วแต่กรณี และจะจัดกลับเข้ามาอยู่ในประเภทกิจการขนาดเล็กอีก ต่อเมื่อความต้องการพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวลดลงต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน
2. ผู้ใช้ไฟฟ้าในอัตราปกติ/คงที่ สามารถเลือกใช้อัตราประเภท TOU ได้ โดยจะต้องแจ้งความประสงค์กับการไฟฟ้า และจะต้องชำระค่าเครื่องวัด TOU ก่อน หรือชำระค่าบริการด้านเครื่องวัด TOU เพิ่มขึ้นจากอัตราค่าบริการปกติ และหากเลือกใช้ไปได้แล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน จะขอกลับไปใช้อัตราปกติ/คงที่ ตามเดิมอีกก็ได้
3. ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระค่าบริการรายเดือน ถึงแม้จะไม่มีการใช้ไฟฟ้า
นิยามของกิจการขนาดกลาง คือ ลักษณะการใช้สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยราชการ สำนักงาน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานที่ทำการเกี่ยวกับกิจการของต่างชาติ และสถานที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุด ตั้งแต่ 30 ถึง 999 กิโลวัตต์ และมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 3 เดือนไม่เกิน 250,000 หน่วยต่อเดือน โดยต่อผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องเดียว
อัตราตามช่วงเวลาการใช้ | ค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (บาท/KW) | ค่าพลังงาน (บาท/KWh) | ค่าบริการ (บาท/เดือน) | ||
ณ แต่ละระดับการเชื่อมโยง | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | |
1. แรงดันตั้งแต่ 69 KV ขึ้นไป | 74.14 | – | 4.1283 | 2.6107 | 312.24 |
2. แรงดัน 22-23 KV | 132.93 | – | 4.2097 | 2.6295 | 312.24 |
3. แรงดันต่ำกว่า 22 KV | 210.00 | – | 4.3555 | 2.6627 | 312.24 |
- หมายเหตุ
1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก่อนเดือนตุลาคม 2543 สามารถเลือกใช้ค่าไฟฟ้าอัตราปกติ/คงที่ ซึ่งค่าพลังงานไฟฟ้าที่เรียกเก็บจะไม่แตกต่างกันในแต่ละช่วงระยะเวลาการใช้ ต่อไปได้ แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง ที่มีการขอใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นมา จะต้องใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลา (TOU rate) เท่านั้น
2. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง หากมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาที่สูงสุด ตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไปในเดือนใด หรือมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 3 เดือน เกินกว่า 250,000 หน่วยต่อเดือน จะถูกจัดเข้าอยู่ประเภทกิจการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลา เท่านั้น ในเดือนถัดไปหลังจากเดือนที่ติดตั้งเครื่องวัด (meter) ประเภท TOU แล้ว
3. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลางที่ใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ สามารถเลือกใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ได้ โดยแจ้งความประสงค์กับการไฟฟ้า และจะต้องชำระค่าเครื่องวัด TOU ก่อน ทั้งนี้หากเลือกใช้แล้วกลับไปใช้อัตราเดิมอีกไม่ได้
4. ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุดต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน ในเดือนถัดไปจะจัดเข้าอยู่ในประเภทกิจการขนาดเล็ก อัตราปกติ/คงที่ (ข้อ 2.1) และจะจัดเข้ามาอยู่ในอัตราข้อ 3.2 เมื่อมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่ 30 ถึง 999 กิโลวัตต์
5. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทนี้จะต้องชำระค่าบริการรายเดือน เพิ่มจากค่าไฟฟ้าต่ำสุดด้วย [ค่าไฟฟ้าต่ำสุด คือ ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Demand charge) ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา นับถึงเดือนปัจจุบัน]
นิยามของกิจการขนาดใหญ่ คือ ลักษณะการใช้ สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยราชการ สำนักงาน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานที่ทำการเกี่ยวกับกิจการของต่างชาติ และสถานที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุด ตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือ มีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 3 เดือน เกินกว่า 250,000 หน่วยต่อเดือน โดยต่อผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องเดียว
อัตราตามช่วงเวลาการใช้ | ค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (บาท/KW) | ค่าพลังงาน (บาท/KWh) | ค่าบริการ (บาท/เดือน) | ||
ณ แต่ละระดับการเชื่อมโยง | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | |
1. แรงดันตั้งแต่ 69 KV ขึ้นไป | 74.14 | – | 4.1283 | 2.6107 | 312.24 |
2. แรงดัน 22-23 KV | 132.93 | – | 4.2097 | 2.6295 | 312.24 |
3. แรงดันต่ำกว่า 22 KV | 210.00 | – | 4.3555 | 2.6627 | 312.24 |
- หมายเหตุ
1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก่อนเดือนตุลาคม 2543 สามารถเลือกใช้ค่าไฟฟ้าอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Time of Day – TOD (ข้อ 4.1) แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ ที่มีการขอใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นมา จะต้องใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลา (TOU rate) เท่านั้น
2. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD สามารถเลือกใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ได้ โดยแจ้งความประสงค์กับการไฟฟ้า และจะต้องชำระค่าเครื่องวัด TOU ก่อน ทั้งนี้หากเลือกใช้แล้วกลับไปใช้อัตราเดิมอีกไม่ได้
3. ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุดต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน ในเดือนถัดไปจะจัดเข้าอยู่ในประเภทกิจการขนาดเล็ก
4. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทนี้จะต้องชำระค่าบริการรายเดือน เพิ่มจากค่าไฟฟ้าต่ำสุดด้วย [ค่าไฟฟ้าต่ำสุด คือ ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Demand charge) ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา นับถึงเดือนปัจจุบัน]
นิยามของกิจการเฉพาะอย่าง คือ ลักษณะการใช้ สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบกิจการโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป โดยต่อผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องเดียว
อัตราตามช่วงเวลาการใช้ | ค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (บาท/KW) | ค่าพลังงาน (บาท/KWh) | ค่าบริการ (บาท/เดือน) | ||
ณ แต่ละระดับการเชื่อมโยง | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | ช่วงเวลา Peak | ช่วงเวลา Off-peak | |
1. แรงดันตั้งแต่ 69 KV ขึ้นไป | 74.14 | – | 4.1283 | 2.6107 | 312.24 |
2. แรงดัน 22-23 KV | 132.93 | – | 4.2097 | 2.6295 | 312.24 |
3. แรงดันต่ำกว่า 22 KV | 210.00 | – | 4.3555 | 2.6627 | 312.24 |
- หมายเหตุ
1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทธุรกิจเฉพาะอย่าง จะต้องใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU เท่านั้น ยกเว้น ในช่วงที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัด TOU อนุโลมให้คิดค่าไฟฟ้าในอัตราปกติ/คงที่ ไปพลางก่อน
2. ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุดต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน ในเดือนถัดไปจะจัดเข้าอยู่ในประเภทกิจการขนาดเล็ก แบบอัตราปกติ/คงที่ และจะจัดเข้ามาอยู่ในประเภทธุรกิจเฉพาะอย่าง แบบ TOU เมื่อมีความต้องการพลังไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป
3. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทนี้จะต้องชำระค่าบริการรายเดือน เพิ่มจากค่าไฟฟ้าต่ำสุดด้วย [ค่าไฟฟ้าต่ำสุด คือ ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Demand charge) ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา นับถึงเดือนปัจจุบัน
ที่มา : สนพ.,“โครงการศึกษาทบทวนนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ (TOU rate)”, 2561