เสาหลักที่ 1: การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน
ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารจัดการพลังงานในบ้านเรือน (Home Energy Management System: HEMS) ในอาคารพาณิชย์ (Building Energy Management System: BEMS) และในโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Energy Management System: FEMS) เป็นเทคโนโลยีที่สามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้น ทั้ง 2 หัวข้อจึงถูกรวมไว้ภายใต้เสาหลักที่ 1
เป้าหมายของเสาหลักที่ 1 ตามแผนการขับเคลื่อนคือ การเกิดธุรกิจผู้รวบรวมโหลดสำหรับการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Load Aggregator) ขึ้นในประเทศไทย และมีการรับซื้อกำลังไฟฟ้าที่สามารถลดลงได้ในช่วงพีค หรือที่เรียกกันว่า Negawatt ปริมาณ 350 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทจ่ายไฟเฉพาะช่วงพีค (Peaking Plant) ได้ 350 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ แผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะสั้นมีเป้าหมายในการพัฒนาให้การตอบสนองด้านโหลดเป็นไปอย่างทันสมัยมากขึ้น อันจะส่งผลให้การตอบสนองสามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาที่กระชั้นรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดมาหลายครั้งแล้วในอดีต เช่น โครงการรวมใจคนไทย สู้วิกฤตไฟฟ้า โครงการนำร่อง Thailand Demand Response โครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้าในสถานการณ์หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ JDA-18A ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการที่ผ่านมาในอดีตนั้นเป็นการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดแบบที่ควบคุมด้วยมนุษย์ (Manual Demand Response)
แผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะสั้นส่งเสริมการนำระบบบริหารจัดการพลังงานมาใช้งานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด ทำให้การตอบสนองด้านโหลดในอนาคตสามารถก้าวไปสู่แบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automated Demand Response) ได้ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ก่อนที่จะถูกพัฒนาให้ก้าวไปสู่การตอบสนองด้านโหลดแบบอัตโนมัติ (Fully-automated Demand Response) ต่อไปในช่วงระยะปานกลางและระยะยาวตามแผนแม่บทฯ
แผนเสาหลักที่ 1: การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน
เสาหลักที่ 1 ได้รวมหัวข้อการตอบสนองด้านโหลด และระบบบริหารจัดการพลังงานเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากทั้งสองหัวข้อดังกล่าวสามารถสนับสนุนการดำเนินการซึ่งกันและกันได้ วัตถุประสงค์หลักของเสาหลักที่ 1 คือเพื่อลดการสร้างโรงไฟฟ้าในช่วงพีค (Peaking Power Plant) ลง โดยกิจกรรมหลักภายใต้เสาหลักที่ 1 ดังแสดงในรูป
รูปสรุปกิจกรรมหลักภายใต้เสาหลักที่ 1
เสาหลักที่ 1 ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมหลักดังต่อไปนี้
การเตรียมดำเนินการตอบสนองด้านโหลด ช่วงปี พ.ศ. 2559 ประกอบด้วยการศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เอื้อและสนับสนุนการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบ Critical Peak Pricing (CPP) Interuptible Rate และ Emergency Demand Response และ 2 โครงการที่เกี่ยวข้องซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อันประกอบด้วยโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกันได้สำหรับระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดเพื่อการประยุกต์ใช้งานด้านการตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้า (Demand Response Interoperability) และ โครงการวิจัยนำร่องการดำเนินงานด้านการจัดการกำลังไฟฟ้าสูงสุดในภาคประชาชน หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการ DR100
การดำเนินการตอบสนองด้านโหลดผ่านระบบบริหารจัดการพลังงาน เริ่มต้นจากการพัฒนาทางธุรกิจและการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดควบคู่กับการพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด และในขณะเดียวกันการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ได้มีการดำเนินโครงการนำร่องระบบบริหารจัดการพลังงานในชุมชน อาคารและโรงงานเพื่อทดสอบการใช้งานระบบบริหารจัดการพลังงานในบริบทของการตอบสนองด้านโหลดและรองรับการดำเนินการตอบสนองของ กฟน. ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 ต่อไป
การจัดตั้งศูนย์สั่งการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (DRCC) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (Generation) และฝ่ายส่ง (Transmission) ดำเนินการจัดตั้ง DRCC เพื่อทำงานควบคู่กับศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากำลัง (National Control Center: NCC)
โครงการการตอบสนองด้านโหลดในพื้นที่เมืองพัทยา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดในพื้นที่เมืองพัทยา ดำเนินโครงการตอบสนองด้านโหลดโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะติดตั้งเพิ่มเติมควบคู่กับอุปกรณ์เดิมในโครงการนำร่องเพื่อให้ได้มาซึ่งการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 250 เมกะวัตต์
โครงการการตอบสนองด้านโหลดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตอบสนองด้านโหลดเพื่อให้ได้มาซึ่งการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 100 เมกะวัตต์
โดยจากการดำเนินการขับเคลื่อนดังกล่าวสำหรับเสาหลักที่ 1 นั้น นอกจากจะมีเป้าหมายด้านการเปิดรับซื้อกำลังไฟฟ้าที่สามารถลดลงได้ในช่วงพีค 350 Negawatt ยังส่งผลให้เกิดการพัฒนากระบวนการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดให้เป็นไปอย่างทันสมัยและรวดเร็วฉับไว สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ การขับเคลื่อนผ่านเสาหลักที่ 1 นั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด คือ จากการกำหนดผลตอบแทนเฉพาะในรูปแบบของพลังงานที่ลดลงได้ (Energy Payment: EP) กล่าวคือในรูปแบบบาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเพียงอย่างเดียว ไปเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่าง EP และรูปแบบของกำลังที่ลดลงได้ (Availability Payment: AP) หรือ ทั้งบาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงและบาทต่อกิโลวัตต์
ตารางสรุปกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้เสาหลักที่ 1 ของแผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะสั้น พร้อมทั้งกรอบงบประมาณ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ และกรอบเวลาสำหรับการดำเนินการ
อ้างอิง | โครงการ/กิจกรรม – เสาหลักที่ 1 | หน่วยงานหลัก | งบประมาณ (ล้านบาท) |
กรอบเวลา | ||||
2560 | 2561 | 2562 | 2563 | 2564 | ||||
EPPO-04 | การพัฒนารูปแบบธุรกิจของระบบบริหารจัดการพลังงาน (EMS) เพื่อการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดบนสมาร์ทกริด | สนพ. | 15 | 15 | ||||
ERC-02 | การพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบสําหรับการตอบสนองด้านโหลดและการจัดการพลังงานบนสมาร์ทกริด | สกพ. | 6 | 6 | ||||
MEA-01 | โครงการนำร่องระบบบริหารจัดการพลังงานในชุมชน อาคารและโรงงาน ซึ่งต่อเชื่อมกับระบบสมาร์ทกริด | กฟน. | 145 | 85 | 60 | |||
EGAT-01 | การจัดตั้งศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (DRCC) | กฟผ. | 130 | 50 | 30 | 35 | 15 | |
PEA-01 | โครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี | กฟภ. | 497 | 147 | 225 | 125 | ||
MEA-02 | โครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดและกลไกราคาในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล | กฟน. | 181 | 131 | 50 | |||
รวม | 974 | 106 | 110 | 177 | 391 | 190 |
ดาวน์โหลดแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น (พ.ศ. 2560 – 2564 ) (ฉบับเต็ม) ที่นี่
ผลการดำเนินงานภายใต้เสาหลักที่ 1
ภายใต้เสาหลักที่ 1 ของแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะสั้น มีเป้าหมายหลัก คือ เกิดธุรกิจผู้รวบรวมโหลดสำหรับการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Load Aggregator) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทจ่ายไฟเฉพาะช่วงพีค (Peaking Plant) ได้ 350 เมกะวัตต์ เป็นเงิน 17,500 ล้านบาท ซึ่งภายหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด 8,750 ล้านบาทไปแล้ว จะทำให้ประเมินผลประหยัดสุทธิได้ประมาณ 8,750 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะสั้น ที่ได้ระบุรายละเอียดกิจกรรม หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรอบงบประมาณ และกรอบเวลาสำหรับการดำเนินการของเสาหลักที่ 1 นั้น ที่ปรึกษาจะทำการรวบรวมรายละเอียดความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงกิจกรรมหรือโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของหน่วยงานหลัก โดยทางที่ปรึกษาจะมีการระบุรหัสโครงการเพิ่มเติม (ถ้ามี) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การดำเนินงานในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
ตารางสรุปกิจกรรมของเสาหลักที่ 1
รูประยะเวลาดำเนินโครงการตามเสาหลักที่ 1 การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน (DR & EMS)