สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาการพลังงานของประเทศ ซึ่ง สนพ. เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายตามแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560-2564 แต่อย่างไรก็ดี สนพ. ยังได้ดำเนินงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านสมาร์ทกริดนอกเหนือจากแผนการขับเคลื่อนฯ สามารถสรุปรายละเอียดสำคัญได้ดังต่อไปนี้
รายละเอียด:
สนพ. ได้สนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้แก่ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะด้านพลังงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ โดยมีแผนพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะด้านพลังงาน ประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่
- การพัฒนาต่อยอดระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และระบบ ไมโครกริด (Micro Grid) ที่มีอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ใช้ไฟรายใหญ่ เพื่อให้การบริหารจัดการไฟฟ้าทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานมีประสิทธิภาพ
- การส่งเสริมการนำพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพในพื้นที่มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
- การส่งเสริมการนำพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพในพื้นที่มาใช้ในการผลิตความร้อนหรือพลังงานรูปแบบอื่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ
- การส่งเสริมการนำพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพในพื้นที่มาใช้ในการผลิตความร้อนหรือพลังงานรูปแบบอื่น เพื่อแก้ไขปัญหาสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
- การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ใช้ไฟรายใหญ่ อาคารภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมครัวเรือน
ที่มา: สนพ.
รายละเอียด:
กระทรวงพลังงาน จับมือสมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน (สพย.) จัดทำต้นแบบไมโครกริดชุมชน จ.ลำพูน เสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ให้มีไฟฟ้าใช้และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง รวมถึงการวางโครงข่ายไฟฟ้าของชุมชนและระบบสูบน้ำในพื้นที่ เริ่มจ่ายไฟเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา
ต้นแบบไมโครกริดชุมชน ต.ทากาศ อ.แม่ทา จ.ลำพูน
ที่มา:
รายละเอียดการดำเนินงาน
วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนา “Energy 0 โครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)” ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย โดย สนพ. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานในการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวบรวม เชื่อมโยง บูรณาการ วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานหลักของประเทศที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย โดยจะมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลาและต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในทุกภาคส่วน มีความน่าเชื่อถือ ทันสมัย รวมถึงได้รับการยอมรับในระดับสากล สอดรับการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างฐานนวัตกรรมในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลพลังงาน ภายใต้ “โครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย” ระหว่าง 7 หน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อประสานความร่วมมือในการรวบรวม เชื่อมโยง วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมยกระดับการวางแผน กำหนดนโยบาย และการพัฒนาขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานของประเทศต่อไป
ที่มา:
รายละเอียดการดำเนินงาน
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรว่า กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 2 ล้านคัน ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มียอดสะสมราว 4,301 คันโดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเทคโนโลยีรถ EV ระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบมิเตอร์ไฟฟ้า และแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ (Demand Response) เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีระบบไฟฟ้ารองรับการใช้รถ EV ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจจะรองรับได้ถึง 3 ล้านคัน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาให้ผู้ใช้รถ EV สามารถนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากแบตเตอรี่ ขายเข้าระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ ซึ่งจะต้องศึกษารูปแบบและกฎระเบียบรองรับแนวทางดังกล่าวต่อไป ดังนั้น คณะกรรมาธิการพลังงานจึงได้จัดตั้งอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีคณะกรรมการ 30 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ มาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์แนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้รถ EV ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าการขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จจำต้องร่วมมือกับระหว่างภาครัฐที่กำกับนโยบาย ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนและภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้จึงจะสำเร็จ โดยนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จำนวน 8 ข้อ ได้แก่
- การจัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (EV Roadmap)
- ปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
- ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะให้ประชาชนซื้อรถ EV ได้ในราคาที่เหมาะสม
- ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสามล้อไฟฟ้า
- การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า
- จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง
- ให้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
- ให้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มียานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ จำนวน 3,076 คัน เติบโตก้าวกระโดดจากปี 2560 ที่มียอดจดทะเบียนเพียง 165 คัน ขณะที่ปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศอยู่ที่ 557 แห่ง
ที่มา:
รายละเอียดการดำเนินงาน
สนพ. เตรียมนำร่องโครงการพัฒนาธุรกิจ การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในประเทศ ตั้งเป้าลดใช้ไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ ในปี 2565 โดยมุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน และใช้กลไกด้านราคาเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ซึ่งจะเริ่มนำร่องในกลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่เป็นลำดับแรก
ที่มา:
รายละเอียดการดำเนินงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลการศึกษาเบื้องต้น และพัฒนาเครือข่ายร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตและผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำร่องการพัฒนาธุรกิจการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response หรือ DR) ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและมั่นคง
ที่มา:
รายละเอียดการดำเนินงาน
สนพ. ร่วมกับ ส.อ.ท. ลงนาม MOU ฐานข้อมูลการใช้พลังงาน กำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างฐานข้อมูลการใช้พลังงานของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจทำงานสอดคล้องกับนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยตั้งเป้าลด 25% ภายในปี 2573
ที่มา:
รายละเอียดการดำเนินงาน
สนพ. ได้เตรียมปรับนโยบายพลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ยังคงมุ่งเน้นความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน
ที่มา:
รายละเอียดการดำเนินงาน
สนพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาเทคโนโลยีสมาร์ทกริดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยจะกำหนดให้อยู่ในแผนแม่บทระยะปานกลาง ในช่วงปี 2565-2574 โดยมีการเปิดรับฟังความเห็น “โครงการแผนพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเทคโนโลยีด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
ที่มา: