Digital Transformation
การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยนั้น ย่อมมานำซึ่งการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในบริบทด้านการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งในแง่ของวัฒนธรรมทางสังคมต่างๆ กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง นั้นมีหมุดหมายที่มีนัยยะสำคัญเป็นของตนเอง หากย้อนกลับไปในยุคไทยแลนด์ 1.0 เป็นยุคสมัยที่ประเทศไทยยังมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไปที่ภาคเกษตรกรรมและหัตถกรรมเป็นหลัก นโยบายของภาครัฐส่งเสริมให้เกิดการทำกสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง และการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกลไกทางเศรษฐกิจที่ไม่ซับซ้อน ก่อเกิดการใช้ทรัพยากรมูลฐานที่มีอยู่ในประเทศอย่างเป็นประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ในการดำรงชีพอย่างพอเพียง เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคไทยแลนด์ 2.0 ภาครัฐเริ่มมุ่งเน้นให้เกิดอุตสาหกรรมเบามากขึ้น โดยอาศัยแรงงานคนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ เช่น การผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องดื่ม โรงงานการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกทางด้านเศรษฐกิจและสังคมไปมากพอสมควร

ภาพรวมของการเปลี่ยนผ่านจากยุคไทยแลนด์ 1.0 – ไทยแลนด์ 4.0
ตั้งแต่ช่วงปี 2500 เป็นต้นมา ประเทศของเราก็ได้ก้าวเข้ามาสู่ยุคไทยแลนด์ 3.0 ยุคที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประเทศไทยครั้งหนึ่งก็ว่าได้ กล่าวคือ ภาครัฐมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปที่อุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก การผลิตรถยนต์ การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เคยดำเนินการไว้แต่เดิม ผ่านทางเครื่องจักรกล เพื่อเน้นการส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น อีกทั้งยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตและการลงทุน ด้วยการนำเข้าเทคโนโลยี องค์ความรู้ และเครื่องจักรกลที่ทันสมัยจากต่างประเทศ จึงทำให้ในช่วงแรกๆ ของยุคนั้น ประเทศไทยมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวผ่านการเป็นประเทศปานกลางไปได้ด้วยการดำเนินการในรูปแบบเดิม ซึ่งไม่สอดรับกับทิศทางการเติบโตของตลาดโลก ด้วยบริบทของปัญหาเหล่านี้เองเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านประเทศให้ไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้ได้อย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ภายใต้นโยบายดังกล่าว จะเกิดการเปลี่ยนผ่านการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเป็นสำคัญ เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างราบรื่นนั้น จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางเทคโนโลยีบางอย่างเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและเติมเต็มช่องว่างระหว่างยุคได้อย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบันนั้นเราเชื่อมโยงกับผู้คน สังคม และระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างสะดวก ง่ายดายและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เช่น การส่งผ่านข้อความ เสียงสนทนาพร้อมใบหน้า หรือติดตามข่าวสารผ่านทางการใช้งานแอปพลิเคชั่นด้าน Social Network ต่างๆ ได้อย่างไร้ขอบเขต เราไม่ต้องเสียเวลาไปทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารอีกต่อไป เนื่องจากสามารถสั่งดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นด้าน Internet Banking ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เราไม่ต้องเดินทางไป สั่งอาหาร รอคิวร้านค้าหรือออกไปยืนรอรถแท็กซี่ เพราะเราสามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นด้านโลจิสติกส์ต่างๆ ได้อย่างไร้ข้อจำกัด บริบทของรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปในภาคประชาชนเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นได้ว่ากลไกที่ถูกวางบทบาทไว้เติมเต็มช่องว่างระหว่างยุคเพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันและกันนั่นก็คือ ระบบดิจิทัล นั่นเอง
ระบบดิจิทัล (Digital system) ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากตัวอย่างจากภาคประชาชนที่หยิบยกขึ้นมาให้เห็นภาพในข้างต้นแล้ว ก็ยังสามารถเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้บริการต่างๆ ในระดับมหภาคทั้งใน ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เข้ามาเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินงาน เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงมาตรฐานด้านการบริการ และการใช้งานที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับความต้องการจากทางฝั่งผู้บริโภคที่จะขยายตัวสูงขึ้นอย่างมาก

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากถูกผลิตขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ก่อนจะถูกกระจายส่งจ่ายไปยังศูนย์กลางของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีนั้น ความต้องการไฟฟ้าก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับทิศทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับภาคพลังงานเองนั้น ในฐานะหน่วยงานหลัก ย่อมมีหน้าที่ในการรับผิดชอบดูแล ตลอดจนวางแผน เพื่อจัดหาพลังงาน ให้เพียงพอและเหมาะสมต่อการเติบโตของความต้องการดังกล่าว แน่นอนว่าในส่วนนี้เอง เทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนผ่านและยกระดับมาตรฐานด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมและประเทศแห่งดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ในภาคพลังงานนั้น มีกระแสหลักเน้นไปในเรื่องของการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ถ่านหิน หรือ ก๊าซธรรมชาติ เนื่องด้วยความจำเป็นทั้งทางด้านปริมาณ และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกลไกการเปลี่ยนผ่านยังมุ่งเน้นไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาบูรณาการให้เกิดการบริหารจัดการและการใช้พลังงานเหล่านั้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งภายใต้กรอบดังกล่าว ย่อมส่งผลให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในอนาคตจะมีความซับซ้อนทั้งทางด้านกลไกและการดำเนินการกว่าเดิมมาก นั่นยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาคพลังงานจะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในการควบคุม กำกับ และดูแลระบบ เพื่อให้เกิดการสอดรับกับปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือและความเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า
การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าในอนาคตนั้น จะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีองค์ประกอบครอบคลุมทั้งทางด้านการผลิตไฟฟ้า ด้านการส่งไฟฟ้า ด้านการจำหน่ายไฟฟ้า และด้านผู้บริโภค ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีระบบ ตลอดจนเกิดการแก้ปัญหาด้านความซับซ้อนบนระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบใหม่ตามกรอบแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่ได้วางไว้ข้างต้นด้วย เพื่อมุ่งไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด ที่จะเปรียบเสมือนเครื่องมือชิ้นสำคัญชิ้นใหม่ของภาคพลังงานที่จะใช้ในการรับมือกับความต้องการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุคสังคมแห่งดิจิทัลเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นั่นเอง

สมาร์ทกริดสู่การจัดการพลังงานในอนาคต