ความเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของหน่วยงานหลัก
จากการรวบรวมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริด สนพ.ได้จัดทำแผนภาพความเชื่อมโยงของภารกิจการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของหน่วยงานหลัก เพื่อให้เกิดการบูรณาการแผนการดำเนินงานและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะสั้น รายละเอียดแบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก ดังนี้
เสาหลักที่ 1 การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน (DR & EMS)
แผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 1 โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะเป็นผู้กำหนดนโยบายทางด้านราคาหรือมาตรการ และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้รับไปประกาศราคาและกำกับดูแลการดำเนินงานของศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (DRCC) ซึ่ง DRCC จะรับคำสั่งเรียก DR มาจากทางศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) จากนั้น DRCC จะแจ้งหรือสั่งการเรียก DR ไปยังผู้รวบรวมโหลดแบบ Firm (Firm LAMS) ผ่านมาตรฐาน OpenADR ทั้งนี้ Firm LAMS จะทำการส่งสัญญาณหรือบริหารจัดการ DR ต่อไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า (User) ที่เป็นลูกค้าของ Firm LAMS ผ่านมาตรฐานหรือระบบสื่อสารที่กำหนดขึ้น อย่างไรก็ดี การตรวจวัดค่าพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้น รวมถึงการสั่งจ่ายเงินจากการทำ DR จะดำเนินการผ่านระบบสมาร์ทมิเตอร์ (AMI) ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการเรียกเก็บในบิลค่าไฟรายเดือน
ทั้งนี้ หากพิจารณาความเชื่อมโยงของโครงสร้างจะพบว่า ปัจจุบันในส่วนของภาครัฐสามารถดำเนินการเตรียมความพร้อมของระบบต่างๆ ได้จนถึงมิเตอร์ของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะเรียก การตอบสนองด้านโหลดแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi Auto Demand Response) แต่ภายหลังมิเตอร์นั้นจะเป็นส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะมีการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะเรียกว่า การตอบสนองด้านโหลดแบบอัตโนมัติ (Fully Auto Demand Response) โดยจะสามารถทำให้การสั่งเรียก DR มีความแน่นอนและมีความเชื่อถือได้

รูปที่ 1 แผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 1
จากแผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 1 ดังกล่าว ปัจจุบันมีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายใต้เสาหลักที่ 1 จำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบธุรกิจของระบบบริหารจัดการพลังงาน (EMS) เพื่อการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดบนสมาร์ทกริด (EPPO-04) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในภาพรวมการพัฒนารูปแบบธุรกิจของ EMS-DR ที่เหมาะสมของไทย
2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบสำหรับการตอบสนองด้านโหลดและการจัดการพลังงานบนสมาร์ทกริด (ERC-02) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในภาพรวมการปรับปรุงกฎระเบียบของแต่ละส่วนงาน/หน่วยงานในโครงสร้างของรูปแบบธุรกิจ EMS-DR ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รูปที่ 2 ภารกิจของ สนพ. และ สำนักงาน กกพ. ภายใต้เสาหลักที่ 1
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (DRCC) (EGAT-01) ซึ่งเป็นการดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและหน้าที่ของศูนย์ DRCC ที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนารูปแบบธุรกิจ EMS-DR

รูปที่ 3 ภารกิจของ กฟผ. ภายใต้เสาหลักที่ 1
4. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินโครงการนำร่องระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งต่อเชื่อมกับระบบสมาร์ทกริด (MEA-01) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าหลังมิเตอร์ (Behind Meter) และโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดและกลไกราคาในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล (MEA-02) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาผู้รวบรวมโหลด (LAMS) และการพัฒนาระบบสมาร์ทมิเตอร์ (AMI Data Center)
5. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการนำร่องระบบการบริหารจัดการการตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานแบบอัตโนมัติ (Automated Demand Response) (PEA-01) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาผู้รวบรวมโหลด (LAMS) และโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี (PEA-04) โครงการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ (PEA-05) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในส่วนการพัฒนาระบบสมาร์ทมิเตอร์ (AMI Data Center)

รูปที่ 4 ภารกิจของ กฟน. และ กฟภ. ภายใต้เสาหลักที่ 1
เสาหลักที่ 2 ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast)
แผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 2 โดยจะมีการตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับการพยากรณ์ (Data Forecast Center) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์ของประเทศ ที่สามารถรับ/ส่งข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หน่วยงานอิสระ หน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เป็นต้น รวมถึงการบูรณาการข้อมูลระหว่างสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร./DGA)
นอกจากนี้ การพัฒนาศูนย์พยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน สามารถรับข้อมูลที่ใช้ในการพยากรณ์จากศูนย์ข้อมูลสำหรับการพยากรณ์ดังกล่าวที่จัดตั้งขึ้นมาได้ในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการศึกษาการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. นั้น จะเป็นการรับข้อมูลมาจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน SPP และ VSPP ผ่านทางคู่สัญญาคือ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. โดยศูนย์พยากรณ์ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะต้องอยู่ร่วมกับศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) เพื่อให้การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากที่สุด

รูปที่ 1 แผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 2
จากแผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 2 ดังกล่าว ปัจจุบันมีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายใต้เสาหลักที่ 1 จำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการศึกษาการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นการรวมโครงการตามแผนการขับเคลื่อนฯ EGAT-02 และ EGAT-03 เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง 3 การไฟฟ้าในปี 2561-2562 อีกด้วย โดย กฟผ. จะทำการพัฒนาเทคโนโลยีการพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนและรับข้อมูลที่ใช้พยากรณ์จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศจากโรงไฟฟ้าเอกชน รวมถึงฐานข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ ความเข้มแสง ความเร็วลม ฯลฯ จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการนำร่องพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอาจจะใช้เป็นต้นแบบในอนาคตได้

รูปที่ 2 ภารกิจของ กฟผ. ภายใต้เสาหลักที่ 2
2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างหน่วยงานและการดำเนินการของศูนย์พยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (ERC-03) รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการพยากรณ์ในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) นอกจากนี้ในส่วนของแผนอำนวยการสนับสนุนยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสาหลักที่ 2 คือ การวิจัยและพัฒนา Interoperability ของระบบพยากรณ์ (ERC-01) เพื่อเป็นการพัฒนาความเชื่อมต่อของระบบพยากรณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รูปที่ 3 ภารกิจของ สำนักงาน กกพ. ภายใต้เสาหลักที่ 2
เสาหลักที่ 3 ระบบไมโครกริดและระบบกักเก็บพลังงาน (Micro Grid & ESS)
แผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 3 โดยภายใต้ไมโครกริดแต่ละแห่งจะมีศูนย์สั่งการไมโครกริด (Microgrid SO) เป็นผู้ดูแลระบบของไมโครกริดทั้งหมด โดยในส่วนของการเชื่อมต่อกับกริดนั้น จะมีการเชื่อมต่อกับทางระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. และเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) แต่ในส่วนของภายใต้ไมโครกริดนั้นจะมีระบบบริหารจัดการภายในไมโครกริดเอง (µEMS) ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อกับทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าภาคเอกชน SPP/VSPP ระบบกักเก็บพลังงาน การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ผู้รวบรวมโหลด (LAMS) เป็นต้น ทั้งนี้การสั่งการของ DRCC จะไม่สามารถสั่งการตรงไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้ไมโครกริดนั้นๆได้ ซึ่งการส่งสัญญาณจะสามารถส่งไปยัง Microgrid SO เพื่อให้ไปบริหารจัดการภายในไมโครกริดเอง
นอกจากนี้ในส่วนของระบบกักเก็บพลังงานนั้น สามารถติดตั้งได้ทุกส่วนในโครงสร้างของเสาหลักที่ 3 คือ สามารถติดตั้งภายใต้ไมโครกริดหรือติดตั้งในระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อช่วยบริหารจัดการพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย หรือติดตั้งที่ระบบส่งไฟฟ้าหรือสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเพื่อช่วยบริหารจัดการพลังงานในภาพรวมได้

รูปที่ 1 แผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 3
จากแผนภาพความเชื่อมโยงของเสาหลักที่ 3 ดังกล่าว ปัจจุบันมีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายใต้เสาหลักที่ 3 จำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบธุรกิจระบบไมโครกริด พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนภาครัฐ/ภาคเอกชน (EPPO-04) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในภาพรวมการพัฒนารูปแบบธุรกิจของ Microgrid ที่เหมาะสมของไทย
2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในส่วนของแผนอำนวยการสนับสนุน มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสาหลักที่ 3 คือ การวิจัยและพัฒนา Interoperability ของผู้ควบคุมระบบ SO (ERC-01) เพื่อเป็นการพัฒนาความเชื่อมต่อของการสั่งการของผู้ควบคุมระบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รูปที่ 2 ภารกิจของ สนพ. และ สำนักงาน กกพ. ภายใต้เสาหลักที่ 3
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานในระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. (EGAT-04) เพื่อเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และโครงการพัฒนาโครงการนำร่องสมาร์ทกริด ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน (EGAT-05) เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนในลักษณะไมโครกริด
4. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินโครงการนำร่องระบบไมโครกริดของ กฟน. (MEA-03) โดยทำการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่นำร่องและพัฒนาระบบไมโครกริดในพื้นที่ของ กฟน.
5. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (ระบบไมโครกริด) ที่ อ.เบตง จ.ยะลา (PEA-02) โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid) ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน (PEA-03-1) การติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ส่วนต่อยอดโครงการพัฒนา ระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (ระบบไมโครกริด) ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน (PEA-03-2) และการปรับปรุงระบบไมโครกริดให้สอดคล้องกับสมาร์ทกริด กฟผ.ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (PEA-06) เพื่อเป็นการพัฒนาระบบไมโครกริดในพื้นที่ห่างไกล

รูปที่ 3 ภารกิจของ กฟผ. ภายใต้เสาหลักที่ 3

รูปที่ 4 ภารกิจของ กฟน. และ กฟภ. ภายใต้เสาหลักที่ 3