อาคารส่วนราชการเป็นกลุ่มอาคารที่มีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานและกระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเนื่องจากอาคารส่วนราชการส่วนใหญ่มีลักษณะเชิงกายภาพรวมถึงรูปแบบการใช้พลังงานที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้ศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (NZE Microgrid) แตกต่างกันออกไปโดยแนวทางการพัฒนา NZE Microgrid ในอาคารส่วนราชการที่เหมาะสมของไทยควรมุ่งเน้นไปที่อาคารที่มีคุณลักษณะสำคัญ 2 ด้าน ดังนี้
- คุณลักษณะทั่วไป ของอาคารที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนา NZE Microgrid มีดังนี้
-
- กรรมสิทธิ์ในอาคาร : หน่วยงานต้องเป็นเจ้าของอาคารโดยตรง รวมถึงต้องมีสิทธิ์ในการติดตั้งอุปกรณ์หรือระบบต่าง ๆ ภายในพื้นที่อาคาร
- อายุอาคาร : ไม่เกิน 40 ปี เนื่องจากในการปรับปรุงอาคารต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางโครงสร้างและความสามารถในการรับน้ำหนักเป็นสำคัญ
- ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า : มีการเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ประกอบการประเมินผลด้านพลังงาน
- พื้นที่หลังคาของอาคาร : มีพื้นที่ว่างที่พร้อมและเพียงพอต่อการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Solar Rooftop) อย่างเหมาะสม
- สภาพแวดล้อมอาคาร : พื้นที่โดยรอบบริเวณที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Solar Rooftop) ควรอยู่ในพื้นที่โล่ง และไม่มีร่มเงาต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างข้างเคียงบดบัง
- คุณลักษณะเชิงเทคนิค ครอบคลุมรูปแบบการใช้ไฟฟ้าและความสามารถติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียน มีดังนี้
-
- ระดับผลประหยัดพลังงาน:เนื่องด้วยรูปแบบและพฤติกรรมการใช้พลังงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นผลประหยัดพลังงานของอาคารที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสู่ NZE Microgrid “ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้ามาตรฐาน (SEU) ของอาคารแต่ละประเภท” ซึ่งหากมีผลประหยัดพลังงานสูงก็ยิ่งมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาสู่ NZE Microgrid มากขึ้น
- สัดส่วนพื้นที่สำหรับติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า : ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ว่างติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ตารางเมตร) ต่อ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยรายเดือน (kWh/เดือน) ถือเป็นดัชนีที่สำคัญในการชี้วัดความเหมาะสมของอาคารแต่ละประเภท โดยหากมีสัดส่วนสูงก็ยิ่งมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาสู่ NZE Microgrid มากขึ้น
นอกจากนี้ การพัฒนา NZE ในอาคารส่วนราชการยังต้องอาศัยความร่วมมือ ความสนใจ ตลอดจนทัศนคติที่ดีของบุคลากรในหน่วยงานส่วนราชการนั้น ๆ เนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและยกระดับความพร้อมในอาคารส่วนราชการที่มีศักยภาพต่อไป