วิสัยทัศน์และเป้าหมาย
สมาร์ทกริด (Smart Grid) มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อและบริหารจัดการร่วมกับทรัพยากรในระบบจำหน่ายที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งมีลักษณะเป็นแหล่งทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า หรือแหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์(Distributed energy resources; DER) เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถมุ่งไปสู่เป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโดยรวมของประเทศได้
วิสัยทัศน์
“ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า
ที่จำเป็นรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่
อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
โดยเป้าหมายภาพรวมแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะ 1-5 ปี (พ.ศ.2565-2569) : การเตรียมความพร้อมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
ที่จำเป็น และนำร่องการจัดการ DER ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ รองรับการเปลี่ยนผ่านแนวโน้มเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เริ่มส่งผลต่อการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
- ระยะ 6-10 ปี (พ.ศ.2570-2574) : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเร่งการจัดการ DER อย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์รองรับการเปลี่ยนผ่านแนวโน้มเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
เป้าหมายสำคัญ (Key Milestone) และแผนกลยุทธ์ดำเนินการ (Strategic Plan)
ของแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง
เป้าหมายสำคัญ (Key Milestones) ของทั้ง 5 เสาหลักและแผนอำนวยการสนับสนุน ภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง แบ่งออกเป็น 4 ระยะที่สำคัญ ได้แก่
-
- ระยะ 1-2 ปี (เป็นระยะเร่งด่วน ที่จะต้องเร่งดำเนินการ)
- ระยะ 3-5 ปี (ระยะกลางแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง)
- ระยะ 6-10 ปี (ระยะปลายแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง)
- ระยะมากกว่า 10 ปี (เป็นมุมมองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว)
นอกจากนี้ แผนกลยุทธ์การดำเนินงาน (Strategic Plan) ได้ถูกจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางดำเนินงานทำให้เป้าหมายสำคัญ (Key Milestones) ของทั้ง 5 เสาหลักและแผนอำนวยการสนับสนุน ที่กำหนดไว้ในข้างต้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยแบ่งรายละเอียดของการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่
-
- นโยบายที่จำเป็น (Policies Needed)
การดำเนินการด้านดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การกำหนดนโยบายหรือออกมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมจากทางภาครัฐ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและเห็นภาพของทิศทางการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดภายใต้เสาหลักทั้ง 5 ด้านและแผนอำนวยการสนับสนุนที่ชัดเจนควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถจากภายในประเทศทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากร ไปพร้อม ๆ กัน
-
- ข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ (Requirements Regulatory)
การดำเนินการด้านดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การปลดล็อกข้อจำกัดทางด้านกฎหมายหรือกำหนดกฎระเบียบที่จำเป็นต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่ออำนวยให้การพัฒนาภายใต้กรอบของเสาหลักทั้ง 5 และแผนอำนวยการสนับสนุนสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและไร้ข้อจำกัด อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญการควบคุมมาตรฐานของการดำเนินงานด้านภายใต้ระบบสมาร์ทกริดต่าง ๆ ที่จะต้องสอดคล้องกับกรอบสากลอีกด้วย
-
- ความต้องการด้านเทคนิค (Technical Requirement)
การดำเนินการด้านดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา การติดตั้ง การเชื่อมต่อและเชื่อมโยง เทคโนโลยีตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการใช้งาน การมีส่วนร่วม และการขยายฐานของการให้บริการของรูปแบบธุรกิจที่สำคัญให้ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงในผู้ใช้งานและการให้บริการในระบบสมาร์ทกริดทุกประเภท