ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS)

ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) 2018-10-08T19:24:09+07:00

ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS)

ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ในบริบทของสมาร์ทกริด หมายถึง ระบบหรืออุปกรณ์ซึ่งสามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานในรูปแบบอื่น เพื่อกักเก็บไว้ใช้งานในเวลาอื่น เมื่อจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานจะแปลงพลังงานที่กักเก็บไว้กลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกครั้งและจ่ายคืนสู่ระบบต่อไป โดยการแปลงรูปพลังงานไปมานั้นจะเกิดการสูญเสียพลังงานบางส่วนไปขึ้นอยู่กับกระบวนการที่ใช้ ดังนั้นระบบกักเก็บพลังงานที่ดีจะต้องมีความสูญเสียในกระบวนการแปลงรูปพลังงานให้น้อยที่สุด
รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างประเภทของระบบกักเก็บพลังงานซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลาย โดยสามารถแบ่งตามรูปแบบของพลังงานที่กักเก็บ เช่น กักเก็บพลังงานในรูปแบบของพลังงานจลน์ พลังงานศักย์ พลังงานเคมี เป็นต้น นอกจากนี้ระบบกักเก็บพลังงานมีตั้งแต่ขนาดเล็กระดับเพียงไม่กี่วัตต์ เช่น แบตเตอรี่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ถ่านไฟฉาย ไปจนถึงขนาดใหญ่ระดับหลายเมกะวัตต์ เช่น แบตเตอรี่สนับสนุนระบบโครงข่ายไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นต้น

นอกจากนี้ระดับความไวในการจ่ายไฟฟ้าของระบบกักเก็บพลังงานกลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าหลักก็มีหลากหลายเช่นกัน โดยบางระบบมีการตอบสนองที่รวดเร็วในระดับมิลลิวินาที (ms) ในขณะที่บางเทคโนโลยีมีการตอบสนองที่ช้าต้องใช้เวลานานในการจ่ายไฟฟ้ากลับเข้าระบบ ทั้งนี้ระบบกักเก็บพลังงานแต่ละประเภทนั้นมีบทบาทและวัตถุประสงค์ของการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป

ตัวอย่างของระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของพลังงานศักย์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Hydropower Plant) ถือเป็นประเภทที่มีการใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้ามาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว และยังเป็นประเภทของระบบกักเก็บพลังงานที่มีความจุรวมมากที่สุดในโลก ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการใช้งานโรงไฟฟ้าประเภทนี้แล้ว นั่นคือ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาในจังหวัดนครราชสีมา ช่วงเวลาที่มีการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการไฟฟ้า ระบบดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าส่วนเกินในการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง (อ่างล่าง) ขึ้นไปเก็บไว้ชั่วคราวที่อ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างใหม่บนภูเขา (อ่างบน) ซึ่งห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะปล่อยน้ำจากอ่างบนกลับสู่อ่างล่างผ่านกังหันน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายกลับคืนให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้า

รูปที่ 1 ระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่างๆ

รูปที่ 2 โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับลำตะคอง กฟผ. จ.นครราชสีมา

ระบบกักเก็บพลังงานที่สำคัญอีกประเภท คือระบบที่กักเก็บพลังงานในรูปแบบของพลังงานเคมี นั่นคือ แบตเตอรี่ โดยครอบคลุมทั้งแบตเตอรี่แบบติดตั้งอยู่กับที่ (Stationary Battery) หรือ แบตเตอรี่ติดตั้งในยานพาหนะไฟฟ้า (Mobile Battery) แบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน มีการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในการสนับสนุนระบบโครงข่ายไฟฟ้าและเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีระบบกักเก็บพลังงานประเภทอื่น ๆ อีกมากซึ่งยังอาจมิได้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากนักหรือมิได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงในบริบทของสมาร์ทกริด เช่น ล้อตุนกำลัง (Flywheel) ซึ่งกักเก็บพลังงานในรูปแบบของพลังงานจลน์หรือถังเก็บความร้อนหรือความเย็น ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในบริบทของการใช้พลังงานความร้อนเป็นหลัก มิได้เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าโดยตรง เป็นต้น

ระบบกักเก็บพลังงานแบบต่างๆ มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป คุณสมบัติสำคัญที่ต้องพิจารณาในการเปรียบเทียบ เช่น พิกัดกำลัง ระยะเวลาในการจ่ายพลังงาน ประสิทธิภาพในการชาร์จ และจ่ายไฟฟ้า อายุการใช้งาน ราคาต่อความจุไฟฟ้า (เมกะวัตต์-ชั่วโมง) ราคาต่อกำลังไฟฟ้า (เมกะวัตต์) เป็นต้น

ระบบกักเก็บพลังงานมีความจําเป็นสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคตเป็นอย่างมาก ประโยชน์หลักของระบบกักเก็บพลังงาน คือ การสนับสนุนการรักษาสมดุลของระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะ ในระบบที่มีพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่แน่นอนในสัดส่วนสูง รวมถึงยังสนับสนุนการตอบสนองด้านโหลดและช่วยรักษาเสถียรภาพและคุณภาพไฟฟ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้า

ในปัจจุบันมีความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบางประเภทมีความไม่แน่นอนสูง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม เป็นต้น ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะเป็นไปตามสภาพภูมิอากาศ ณ เวลานั้น เช่น ความเร็วลม ความเข้มแสงอาทิตย์ เป็นต้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานด้านการไฟฟ้าหรือผู้บริหารงานโครงข่ายไฟฟ้านั้น มองว่าพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาต่อเชื่อมกับระบบไฟฟ้าจะเพิ่มความซับซ้อนในการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการไฟฟ้ากับการผลิตไฟฟ้า

ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าบางส่วนได้เริ่มผันตัวเองมาเป็น โปรซูมเมอร์ (Prosumer) นั่นคือ มีการติดตั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นของตนเอง จึงมีบทบาทเป็นทั้งผู้บริโภคไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า โดยส่วนมากแล้วระบบผลิตไฟฟ้าของโปรซูเมอร์เหล่านี้จะเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา เป็นต้น ซึ่งจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการและในปริมาณที่ต้องการได้อย่างเสมอไป กำลังการผลิตในช่วงเวลาใด ๆ จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในช่วงเวลานั้น หากไม่มีแดดหรือลมไม่แรงจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ตัวอย่าง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน โดยมีรูปแบบเฉพาะตัวนั่นคือกำลังการผลิตไฟฟ้า จะเพิ่มขึ้นหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นและจะสูงสุดในช่วงเที่ยงวัน ซึ่งมีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงสุด หลังจากนั้นจะลดลงจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน ทั้งนี้รูปแบบการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของโปรซูเมอร์รายนั้น ตัวอย่างเช่น ในบ้านที่ไม่มีคนอยู่อาศัยในช่วงกลางวันจะไม่มีการใช้เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านมากนัก ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเที่ยงวัน แต่จะมีความต้องการไฟฟ้าน้อยมากในช่วงเวลาดังกล่าว จึงทำให้การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามเมื่อมีการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้จะสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มากช่วงกลางวันซึ่งมากักเก็บไว้ก่อนในช่วงที่ยังไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า จากนั้นจึงใช้ไฟฟ้าที่กักเก็บไว้ในช่วงเย็นหรือหัวค่ำ

รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างของการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แผนภูมิในรูปแสดงกำลังไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ของวันในหน่วยกิโลวัตต์ โดยทั่วไปแล้วรูปแบบกำลังการผลิตไฟฟ้าของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถแสดงได้โดยเส้นทึบสีแดง ระบบจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า จากนั้นกำลังการผลิตของระบบจะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งมีค่าสูงสุดในช่วงเที่ยงวัน หลังจากนั้นกำลังการผลิตจะลดลงจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกในช่วงเย็น ซึ่งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะหยุดการผลิตไปในที่สุด อย่างไรก็ตามความต้องการไฟฟ้ามิได้จำกัดอยู่เฉพาะในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ดังเส้นสีน้ำเงินทึบ ในช่วงกลางวันเมื่อกำลังการผลิตไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการไฟฟ้า (ช่วงที่เส้นสีแดงทึบอยู่เหนือเส้นสีน้ำเงินทึบ) ไฟฟ้าส่วนเกินจะสามารถนำมาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ หลังจากนั้นในช่วงหัวค่ำหลังจากพระอาทิตย์ตกไปแล้วแต่ยังมีความต้องการไฟฟ้าอยู่ (ช่วงที่เส้นสีน้ำเงินทึบอยู่เหนือเส้นสีแดงทึบ) ระบบกักเก็บพลังงานจะจ่ายไฟฟ้าให้กับโหลดทางไฟฟ้าต่าง ๆ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงเวลานั้น แต่แบตเตอรี่ก็ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าแทนได้ ทำให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าบางส่วนได้ตามปกติ

รูปที่ 3 ตัวอย่างการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์