นิยาม Demand Response 2018-09-10T04:18:32+07:00

นิยามของ Demand Response

โดยทั่วไปนิยามของ Demand Response หรือการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า จะถูกกำหนดไว้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นนิยามที่กำหนดโดยหน่วยงานหรือการไฟฟ้าในต่างประเทศ หรือกำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ของประเทศไทย โดย สำนักงาน กกพ. ได้นิยาม Demand Response ภายใต้โครงการพัฒนา Demand Response สำหรับประเทศไทย ไว้ว่า Demand Response คือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าโดยภาคอุปสงค์ (Demand Resource) ไปจากรูปแบบการใช้ไฟฟ้าปกติ เพื่อตอบสนองต่อค่าไฟฟ้า (Electricity Price) ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า (Marginal Cost) ขณะนั้น หรือเพื่อตอบสนองต่อเงินสนับสนุนพิเศษ (Incentive Payment) ที่ถูกกำหนดไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ต้นทุนของระบบมีค่าสูง หรือในช่วงที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

Demand Response เป็นมาตรการสำหรับฝั่งผู้ใช้ไฟฟ้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เช่น ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (Lighting System) ระบบทำความเย็นและระบายอากาศ (Chiller and Ventilation) ไปจนถึงการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองของผู้ใช้ไฟ (Backup Generator) (IEA, 2011) อย่างไรก็ดี มาตรการ Demand Response นั้นเป็นมาตรการสำหรับบางช่วงเวลา ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรการประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) ที่ให้ความสำคัญกับการลดการใช้ไฟฟ้าทุกช่วงเวลา

วัตถุประสงค์ของ Demand Response สามารถจำแนกออกเป็นวัตถุประสงค์หลักๆ ได้ 4 ประเด็น คือ

1. ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่มั่นคงในระบบไฟฟ้า เช่น ในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤตขาดแคลนพลังงานและสามารถความสร้างสมดุลให้กับทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดได้

2. เพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า กล่าวคือเป็นการใช้กลไกด้านราคาเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดความต้องการการใช้ไฟฟ้า ลดความสูญเสียในระบบสายส่ง และช่วยแก้ไขปัญหา Network Congestion เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบไฟฟ้า

3. เพิ่มความมั่นคงและเพิ่มความคล่องตัวให้กับระบบไฟฟ้า กล่าวคือ ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ภายในเวลารวดเร็ว เพื่อตอบสนองภาวะวิกฤตสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า

4. ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า คือการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak ของระบบ ทดแทนการเดินโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูง โดยใช้มาตรการในดำเนินงานของ Demand Response รูปแบบต่างๆ

จากผลการศึกษาในหลายประเทศที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับ Demand Response พบว่ามีการแบ่งประเภทของ Remand Response ออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ Time/Price Based Demand Response ที่เน้นการใช้อัตราค่าไฟฟ้าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปรับพฤติกรรม และ Incentive Based Demand Response ที่เน้นการใช้เงินสนับสนุนพิเศษเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปรับพฤติกรรม ดังมีรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปนี้

Demand Response ประเภทนี้เป็นมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการปรับพฤติกรรมผ่านอัตราค่าไฟฟ้า โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • Time of Use (TOU)

อัตราค่าไฟฟ้า TOU เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate) โดยค่าไฟจะแพงในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก (On Peak) เช่น ระหว่างเวลา 09.00 – 22.00 น. ของวันจันทร์ – วันศุกร์ เนื่องจากการไฟฟ้าต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งที่มีราคาถูกและแพง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off Peak) เช่น ระหว่างเวลา 22.00 – 09.00 น. ของวันจันทร์ – วันศุกร์ และทั้งวันของวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดราชการที่ไม่รวมวันหยุดชดเชย ค่าไฟจะถูก เนื่องจากการไฟฟ้าสามารถเลือกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงราคาถูกได้ ดังนั้น อัตราค่าไฟฟ้า TOU จึงเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงประเภทหนึ่ง

  • Real Time Pricing (RTP)

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ RTP เป็นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้มีการเปลี่ยนแปลงทุกชั่วโมงเพื่อสะท้อนถึงต้นทุนของระบบที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าตลอดช่วงเวลาของวัน

  • Critical Peak Pricing (CPP)

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ CPP เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่มีอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU เป็นพื้นฐานแต่เพิ่มอัตราพิเศษที่แพงขึ้นไปอีก หลายเท่าตัวในช่วง On Peak ปกติของ TOU

  • Peak Time Rebate (PTR)

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ PTR เป็นอัตราค่าไฟฟ้าซึ่งโดยปกติจะอยู่บนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปกติ (Flat Rate) แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับค่าชดเชย ถ้าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในขณะช่วงเวลาวิกฤตของระบบได้ (Peak or critical time) โดยลูกค้าสามารถตัดสินใจที่จะลดการใช้ไฟฟ้าในเวลาดังกล่าว

Demand Response ประเภทนี้เป็นมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการปรับพฤติกรรมผ่านเงินสนับสนุนพิเศษ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • Direct Load Control (DLC)

มาตรการ DLC เป็นมาตรการการควบคุมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยการทำข้อตกลงระหว่างผู้ดูแลระบบและผู้ใช้ไฟฟ้า โดยผู้ดูแลระบบสามารถสั่งการตัดการใช้ไฟฟ้าหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการได้ เช่น เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องทำความร้อน ระบบแสงสว่าง ซึ่งปกติแล้วผู้เข้าร่วมโครงการ DLC มักจะเป็นลูกค้าครัวเรือนหรือลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก โดยค่าชดเชยที่ได้รับเป็น ค่าพลังไฟฟ้า (Availability Payment)

  • Real Time Pricing (RTP)

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ RTP เป็นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้มีการเปลี่ยนแปลงทุกชั่วโมงเพื่อสะท้อนถึงต้นทุนของระบบที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าตลอดช่วงเวลาของวัน

  • Interruptible/Curtailment

มาตรการ Interruptible/Curtailment เป็นมาตรการมีการกำหนดเงินสนับสนุนพิเศษหรือได้รับค่าไฟฟ้าในอัตราพิเศษ อย่างไรก็ตาม จะมีข้อตกลงระหว่างการไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับปริมาณและจำนวนครั้งที่จะเรียกใช้งานการลดการใช้ไฟฟ้า เช่น เรียกใช้ปีละไม่เกิน 40 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง เป็นต้น โดยค่าชดเชยที่ได้รับเป็น ค่าพลังไฟฟ้า (Availability Payment)

  • Demand Bidding/Buyback Program

เป็นมาตรการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเสนอที่จะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกกำหนดโดยตลาดซื้อขายไฟฟ้า โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นลูกค้าขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 1 MW ขึ้นไป โดยตลาดซื้อขายไฟฟ้ามักจะตอบรับข้อเสนอเมื่อลูกค้าเสนอราคาค่าไฟที่ลดได้ถูกกว่าราคาไฟฟ้าที่ตลาดไฟฟ้ากำหนด โดยค่าชดเชยที่ได้รับ คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment) ที่ลูกค้าเสนอ

  • Emergency Demand Response Program

เป็นมาตรการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับลูกค้าสำหรับการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงขณะที่ปริมาณกำลังไฟฟ้าสำรองลดต่ำลงซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าดับ โดยค่าชดเชยที่ได้รับแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าพลังไฟฟ้า (Availability Payment) และ ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment)

  • Capacity Market Program

เป็นมาตรการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเสนอที่จะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบของกำลังผลิตของระบบเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า โดยปกติผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับการแจ้งในวันที่จะเกิดเหตุการณ์ สำหรับเงินสนับสนุนมักจะประกอบไปด้วยเงินล่วงหน้าสำหรับปริมาณที่จะลดได้ และโทษปรับเมื่อไม่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้เมื่อถูกร้องขอ โดยค่าชดเชยที่ได้รับแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าพลังไฟฟ้า (Availability Payment) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment)

  • Ancillary Services Market Program

เป็นมาตรการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเสนอปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สามารถลดได้ในตลาดซื้อขายไฟฟ้า ในรูปแบบ Operating Reserve ถ้าข้อเสนอได้รับการคัดเลือก ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับการจ่ายเงินที่อัตราค่าไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้าสำหรับความพร้อมที่จะลดถ้าเกิดเหตุการณ์ที่การลดใช้ไฟฟ้ามีความจำเป็น และตลาดซื้อขายไฟฟ้าร้องขอ ผู้ใช้ก็อาจจะได้รับเงินสนับสนุนที่ราคาตลาด โดยค่าชดเชยที่ได้รับแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าพลังไฟฟ้า (Availability Payment) และ ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment)

ที่มา : สนพ, “รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกันได้สำหรับระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดเพื่อการประยุกต์ใช้งานด้านการตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response)”, พฤศจิกายน 2559