ปัจจุบัน “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” (Electric Vehicle: EV) ได้ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 หรืออีกภายใน 9 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง และรถกระบะให้ได้อย่างน้อย 30% หรือประมาณ 7.25 แสนคัน ของปริมาณการผลิตรถทั้งหมดในรอบปี เช่นเดียวกันการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ในสัดส่วน 50% ของปริมาณรถทั้งหมด เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
ความท้าทายข้างต้น เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย แน่นอนว่าจะต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ไว้รองรับ โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้อย่างมีศักยภาพ
จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เสนอกรอบแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีเป้าหมาย คือ มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพียงพอ ก่อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ และสามารถบริหารทรัพยากรจากยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับแนวทางการส่งเสริมที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง แบ่งเป็น แนวทางที่ 1 คือ การส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอ ผ่านหน่วยงานและเครือข่ายพันธมิตร ทั้งด้านการลงทุนและพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ การสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร รวมไปถึงการส่งเสริมผ่านมาตรการทางการเงินและภาษี
แนวทางที่ 2 คือ การสร้างกฎระเบียบ มาตรฐาน และแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งการจัดทำระเบียบและมาตรฐานเพื่อการสื่อสารและความปลอดภัย รวมทั้งระเบียบและมาตรฐานการติดตั้งและการพัฒนาพื้นที่
แนวทางที่ 3 คือ การส่งเสริมเทคโนโลยีด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อเชื่อมโยงและบริหารจัดการการประจุไฟฟ้าแบบบูรณาการ ในส่วนนี้มีงานสำคัญคือ การจัดทำนโยบายโครงสร้างพื้นฐานมิเตอร์อัจฉริยะ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูล และการเชื่อมโยงสถานีอัดประจุและยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามในแนวทางการผลักดันการส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอ นั้น นับเป็นส่วนสำคัญที่สุดทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยแบ่งรูปออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรกคือ การมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบส่วนตัว ทั้งในบ้านเรือน หรือในพื้นที่สำนักงาน อีกส่วน คือแบบสาธารณะ ทั้งการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ลานจอดรถ และห้างสรรพสินค้า เพื่อใช้ในการบริการลูกค้า รวมถึงการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะที่เน้นให้บริการในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ตามแผนยังได้มีการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุในระยะสั้น โดยเน้นการลงทุนและพัฒนาหัวจ่ายในระบบการชาร์จแบตเตอรี่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น (Fast Charge) สำหรับรถยนต์และรถกระบะ ให้ได้ภายในปี 2568 รวม 4 แสนคัน โดยมีเป้าหมายหัวจ่ายจำนวน 2,200-4,400 หัวจ่าย และในปี 2573 เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคัน มีเป้าหมายหัวจ่ายจำนวน 12,000 หัวจ่าย ครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายการส่งเสริมจำนวนสถานีสำหรับรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยมีการวางแผน และลงทุนพัฒนาสถานีอัดประจุในเส้นทางหลัก โดยในปี 2568 กำหนดไว้ทั้งหมด 260 สถานี คิดเป็นเป้าหมายจำนวนรถจักรยานยนต์ 5.8 แสนคัน และในปี 2573 เพิ่มขึ้นเป็น 1,450 สถานี โดยมีเป้าหมายจำนวนรถจักรยานยนต์ 3.3 ล้านคัน ครอบคลุมเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว และในพื้นที่ชุมชนด้วย
สำหรับการดำเนินการทั้งหมดนี้ นับเป็นหนึ่งในความพยายามของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และยังช่วยสร้างแรงจูงใจในด้านการลงทุนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกเช่นเดียวกัน